ประเด็นร้อน

จุดแตกหัก สงฆ์-พศ.-รัฐบาล เงินทอน 'ไฟลามทุ่ง' โยงพระเถระเสี่ยงวิกฤติศรัทธา

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 25,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ - -

 

ทำเอาอากาศเดือนเมษายนที่ร้อนอยู่แล้ว ร้อนระอุขึ้นมาทันที หลังจาก พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)แจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เอาผิดพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ประกอบด้วย พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม เจ้าคณะภาค 4-7 กรรมการ มส. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 10 กรรมการ มส. รวมทั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ อีก 2 รูป ฐานทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

งานนี้ทำเอาพระสังฆาธิการทั้งหมดแปลกใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของ ปปป. มาสืบสวนข้อเท็จจริงที่วัดหรือสอบกับตัวพระสังฆาธิการทั้งหมดแต่อย่างใด แต่กลับมีการส่งเรื่องแจ้งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ทันที ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกมาตีปลาหน้าไซ  ขอร้องพระสงฆ์กลุ่มต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย  อย่าออกมากดดันการตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัด ยืนยันทำไปตามพยานหลักฐาน

 

สอดรับกับทางพศ.ที่สถานการณ์ปิดปากเงียบเริ่มเกิดขึ้น  หลังจากยื่นเรื่องกล่าวหาพระสังฆาธิการระดับ มส. โดย พ.ต.ท.พงศ์พร ได้มีคำสั่งห้ามผู้บริหารพศ.และเจ้าหน้าที่ พศ.ทุกคนให้สัมภาษณ์ หรือพูดถึงกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ผู้บริหารไม่สามารถตอบข้อเท็จจริงของเรื่องทั้งหมดต่อสาธารณชนได้  รวมทั้งหากข้าราชการคนใดปริปากพูดออกไปต้องรายงานให้ พ.ต.ท.พงศ์พร รับทราบ จึงทำให้เกิดข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า การกระทำของ ผอ.พศ. ในครั้งนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่

 

เกิดคำถามขึ้นมากมาย...แก่สังคม แม้แต่นักวิชาการก็ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ดังกล่าวหลายกรณี เริ่มจากเหตุใด ผอ.พศ. ในฐานะเลขาธิการ มส. จึงทำเกินหน้าที่เหมือนกับการฟ้องเจ้านายตัวเอง ซึ่ง มส. ก็เปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีสงฆ์ ที่สำคัญกล่าวหาของ ผอ.พศ. ยังมีปรับอาบัติถึงขั้น "ปาราชิก" พระสังฆาธิการทั้ง 5 รูปนั้นด้วย ซึ่งตามหลักแล้ว ฆราวาสจะปรับอาบัติพระไม่ได้ นอกจากคณะสงฆ์จะมีการสอบอธิกรณ์แล้วปรับอาบัติกันเอง รวมถึงการไม่สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการ มส. ทั้งที่อำนาจการแต่งตั้ง หรือปลด ให้ออก มาจากพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

 

อีกกรณีหนึ่งเหตุใดจึงไม่ฟ้องร้องข้าราชการ พศ. ทั้งที่เป็นต้นทางของเรื่องการทุจริตเงินทอนวัด การเบิกจ่ายและการโยกงบประมาณจากโครงการหนึ่งมาใช้อีกโครงการหนึ่งก็ต้องทำจาก พศ. พระเป็นเพียงปลายน้ำ เหตุใดจึงมีการกล่าวหาเพียงพระเถระใน มส. โดยใช้รูปแบบการปล่อยข่าวให้พระเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อสังคม ก่อนที่จะมีการพิจารณาข้อกล่าวหา และตัดสินโทษทั้งที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้เคยใช้ได้ผลกับการป้ายสี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรณีรถหรู กระทั่งกระบวนการยุติธรรมสรุปผลออกมาแล้วว่า สมเด็จวัดปากน้ำเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่สังคมได้ ตีตราว่าท่านได้กระทำความผิด มีมลทินไปแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

 

ข้อสังเกตหนึ่งที่พูดอื้ออึงในหมู่สงฆ์และชาวพุทธ คือ การมีใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากพระสังฆาธิการทั้ง 5 รูป เป็นพระสายบู๊ สายบุ๋นของคณะสงฆ์ และมีการเชื่อมโยงว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับวัดพระธรรมกาย ไม่ว่าจะเป็นพระพรหมดิลก และพระพรหมเมธี ขณะที่พระพรหมสิทธิ แห่งภูเขาทองนั้น ถูกเชื่อมโยงว่ามีสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองเก่า สายเสื้อแดง ครั้งนี้อาจจะเป็นการล้างบางฐานอำนาจทางคณะสงฆ์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจเก่าก็อาจจะเป็นได้ เพราะการดำเนินคดีครั้งนี้ ดูจะพุ่งเป้าตรงจุด หากเด็ดกลุ่มนี้ได้ก็จะสะเทือนถึงมส.ทั้งคณะ ส่งผลต่อความมั่งคงของสถาบันพระพุทธศาสนา คงต้องจับตากันไม่กะพริบถึงการต่ออายุกรรมการ มส. รอบนี้ พระเถระที่ถูกกล่าวหาจะได้ต่ออายุหรือไม่ หากไม่ต่ออายุเป็นกรรมการ มส. ก็เป็นที่แน่ชัดว่า มีใบสั่งทางการเมือง

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดรอยร้าวลึกระหว่าง มส. กับ ผอ.พศ. ถึงรัฐบาล บรรยากาศภายนอกถึงแม้ว่าจะดูสงบเรียบร้อย แต่ภายในนั้นยังคงคุกรุ่น รอวันปะทุ โดยเฉพาะเรื่องเงินทอนวัด ที่คณะสงฆ์ถูกนำมาโจมตี สะเทือนศรัทธาชาวพุทธ ทั้งที่ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหา และคนที่ฟ้องร้องกลับไม่ใช่ใครอื่นคนไกลกลับเป็นคนในครอบครัวเสียเอง

 

สถานการณ์ร้อนต่อสถาบันหลักของชาติ คือ สถาบันศาสนา ทุกสายตาจึงจับจ้องมาที่การประชุม มส. เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาที่พุทธมณฑลว่า มีอะไรเกิดขึ้นพระเถระที่มีชื่อถูกกล่าวหา และ ผอ.พศ. จะเข้าประชุม มส. หรือไม่ จะมีคำสั่งอะไรพิเศษใดออกมาจากสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ปรากฏว่าบรรยากาศการประชุม มส. ดูจะดำเนินไปตามปกติ ทุกรูปเข้าร่วมประชุมพร้อมหน้า

 

อีกมุมภายในห้องประชุม มส. นั้นร้อนระอุ ในระหว่างการประชุม มส. ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานการประชุม กรรมการ มส. แต่ละรูปทั้งฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุต ได้สอบถามถึงความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.พงศ์พร ต่อความเสียหายในพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น เพราะคณะสงฆ์ช่วยกันรักษาความมั่นคงในพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.พงศ์พร จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร และกรรมการมส. ยังสอบถาม พ.ต.ท.พงศ์พร ด้วยว่า ทำไมถึงไม่มาสอบถามที่มาที่ไปกันก่อน ทั้ง ๆ ที่ก็เข้าประชุมมส. ด้วยกันอยู่แล้ว

 

ในขณะเดียวกันยังมีข้อมูลหลุดรอดออกมาว่า การแถลงข่าวของผอ.พศ. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ตรงกับสิ่งที่ทาง มส. มีมติให้พ.ต.ท.พงศ์พร แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการกรณีเงินทอนวัดกับ พระเถระทั้ง 5 รูป โดยเฉพาะที่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับกรรมการ มส. ถึง 3 รูป และอีกเรื่องที่ที่ประชุม มส. มีมติให้ พ.ต.ท.พงศ์พร แถลงคือ กรณีที่มีการระบุโทษทางพระธรรมวินัยปรับอาบัติปาราชิกกรรมการ มส. 3 รูป อยู่ในข้อความที่ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ ปปป. ซึ่ง มส. มีมติให้ พ.ต.ท.พงศ์พร แถลงผ่านสื่อมวลชนว่า

 

การปรับอาบัติพระสงฆ์เป็นขั้นตอนทางพระธรรมวินัย เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ และไม่ใช่หน้าที่ของ พศ. ซึ่งในระหว่างการประชุมมส. พ.ต.ท.พงศ์พร ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ไม่ได้มีการระบุข้อความปรับอาบัติปาราชิกอยู่ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่พอออกมาแถลงข่าว ผอ.พศ. ไม่ได้มีการแถลงตามมติ มส. แต่แถลงเพียงเรื่องเดียว คือ ชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการกรณีเงินทอนวัดกับพระเถระทั้ง 5 รูปเท่านั้น

 

ความร้อนแรงของ ผอ.พศ .ล่าสุดเมื่อเจอ มส. ทั้งคณะออกมาสอบถามถึงการทำหน้าที่ ก็ทำให้ท่าทีดูอ่อนลงไปบาง แต่คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เชื่อว่าหากมีการสอบเรื่องงบประมาณก็คงจะเจอกันเกือบทุกวัดไม่เว้นทั้งธรรมยุต มหานิกาย เพราะผู้เบิกจ่ายงบตั้งเรื่องมาจากพศ. แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมกลับมองเห็นเพียงมุมเดียวคือการโยนบาปให้พระสงฆ์

 

การดำเนินการครั้งนี้ของ ผอ.พศ. เชื่อว่าทำให้พระผู้ใหญ่ที่นั่งสงบนิ่งมานาน ถึงกลับนิ่งไม่ได้ เพราะภัยจะมาถึงตัว แม้แต่ พระพรหมดิลก ซึ่งปกติแล้วจะอยู่เงียบไม่ออกสื่อ แต่คราวนี้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงแม้จะกล่าว เพียงสั้น ๆ ถึงกรณีที่เกิดขึ้นแต่ได้ส่งข้อความถึง ผอ.พศ. แบบนิ่ม ๆ ว่า "ต้องขอขอบคุณ อนุโมทนา ผอ.พศ. ที่ทำให้ตนได้บำเพ็ญบุญบารมี" และให้สัมภาษณ์อีกว่า ข้อมูลยังไม่มี จึงยังไม่สามารถให้สัมภาษณ์ข้อมูลอะไรได้ และหากทราบข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็พร้อมที่จะชี้แจง

 

เมื่อถามว่าได้เตรียมข้อมูลที่จะชี้แจงแล้วหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโรงเรียนพระปริยัติธรรม พระพรหมดิลก ก็ได้ตอบว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็มีอยู่แล้ว ที่วัดสามพระยาเป็นสำนักเรียนที่จัดอบรม จัดสอบ สำหรับนักเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นประจำทุกปี

 

งานนี้เป็นการวัดแสนยานุภาพของผู้มีบารมีในบ้านเมือง คล้ายดึงสถาบันสงฆ์มาเล่นการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ศึกช้างชนช้างกำลังจะเกิดขึ้น  ทั้งที่ปัญหาทุจริตเงินทอนวัดมีมานานแล้ว ไม่ได้เกิดเพียงแค่ยุคนี้ โดยเฉพาะการหักค่าหัวคิวโครงการของพระสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์เองเจอปัญหานี้มานาน แต่ก็ไม่อยากมีปัญหา เนื่องจากเห็นว่ามีงบประมาณมาทำงานดีกว่า ไม่มีอะไรให้เลย แต่การตรวจสอบก็มาเจาะเพียงแค่ยุคนี้ ย้อนหลังเพียงไม่กี่ปี เหมือนมีอะไรแอบแฝงหรือไม่

 

หากไม่มีคนกลางไกล่เกลี่ยรับรองว่า สถาบันหลักของชาติอาจพังกับพัง รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบควรหาวิธีที่ดีกว่าการปล่อยข่าวทำลายชื่อเสียงพระเถระ แต่หากใครผิดจริง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของ พศ. ก็ควรออกมาเปิดเผย ไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นให้สังคมคิดเอาเอง คงต้องรอดูฟางเส้นสุดท้ายระหว่างคณะสงฆ์ ผอ.พศ. และรัฐบาล ว่าจะจบกันอย่างไร ใครจะอยู่หรือใครจะไป แต่ผลสุดท้ายความเสียหายจะลามถึงความศรัทธา สะเทือนถึงความมั่นคงของชาติ อย่าลืม เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เชื้อไฟนิดเดียว ลามไหม้ได้ทั้งเมือง

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw